การผลิตกำลังคนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ นับเป็นภารกิจที่สำคัญของสถาบันอุดมศึกษาฉะนั้นจึงต้องเน้นการควบคุมคุณภาพของกระบวนการผลิตและองค์ประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตบัณฑิต รวมทั้งต้องมีกิจกรรมที่สะท้อนชัดเจนถึงการรักษามาตรฐานขององค์ประกอบ และกระบวนการผลิตบัณฑิตดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงถึงความสามารถตรวจสอบได้ (accountability) ของสถาบันอุดมศึกษา
ทบวงมหาวิทยาลัยได้ประกาศนโยบาย และแนวปฎิบัติในการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษา เมื่อเดือนกรกฎาคม 2539 เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาได้ใช้เป็นกรอบแนวคิดในการกำหนดนโยบาย และแนวทางการดำเนินการ ประกันคุณภาพการศึกษาของแต่ละสถาบัน นอกจากนี้ทบวงมหาวิทยาลัย ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษาขึ้น เพื่อทำหน้าที่พัฒนาระบบและกลไกการประกันคุณภาพการศึกษา รวมทั้งการฝึกอบรม และให้ความรู้เกี่ยวกับระบบการประกันคุณภาพการศึกษา แก่บุคลากรที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ และทบวงมหาวิทยาลัยมีเป้าหมายที่จะเริ่มให้มีการตรวจสอบและประเมินผลระบบและกลไกการประกันคุณภาพการศึกษาในระดับคณะวิชาในสถาบันอุดมศึกษา ตั้งแต่เดือนตุลาคม พุทธศักราช 2542 เป็นต้นไป
มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ดำเนินภารกิจในการผลิตบัณฑิต การวิจัย บริการทางวิชาการตลอดจนทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการกำลังคนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และของประเทศมากว่า 30 ปีโดยมีปณิธานชัดเจน ที่เน้นในเรื่องของคุณภาพและความเป็นเลิศทางวิชาการตลอดจน การผลิตบัณฑิตให้พึงเป็นผู้ที่กอปรด้วยวิทยา จริยา และปัญญา อันสามารถที่จะประยุกต์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ภูมิภาค ประเทศชาติ และขยายสู่ความเป็นสากลต่อไป ทำให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นพัฒนาก้าวหน้ามาได้ตราบจนทุกวันนี้ และจะพัฒนาก้าวหน้าต่อไปในอนาคต
มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เล็งเห็นความจำเป็นในการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพขึ้น โดยมีเหตุผลที่สำคัญดังนี้คือ
- เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการจัดการศึกษาในระดับต่างๆ จะเป็นไปอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ
- เพื่อให้คุณภาพโดยรวมของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และบัณฑิตของมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้รับการรักษา และส่งเสริมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
- เพื่อให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นสามารถแข่งขันในเชิงคุณภาพของการจัดการศึกษา และคุณภาพของบัณฑิต ในวงการอุดมศึกษา ทั้งในและต่างประเทศ
- เพื่อให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติมากขึ้น
สภามหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ประกาศนโยบายเพื่อพัฒนาและให้ใช้เป็นนโยบายหลักของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในระยะปี พ.ศ. 2540 - 2544
โดยมีสาระสำคัญที่สรุปได้ดังนี้
1. เร่งรัดการผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพ มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ และลักษณะของการให้บริการที่พึงประสงค์ เป็นที่ยอมรับของสังคม โดยส่งเสริมให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษา และการประกันคุณภาพการปฏิบัติงาน
2. ปฏิรูประบบบริหารการจัดการทางวิชาการ
3. สนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยเพื่อพัฒนา การวิจัยพื้นฐาน และการวิจัยประยุกต์
4. พัฒนาระบบบริการวิชาการแก่สังคม
5. พัฒนาบทบาทของมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้มีบทบาทที่สะท้อนภาพ และเสริมสร้าง ความเข้าใจในประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต
มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กำหนดนโยบายการประกันคุณภาพในระยะปี พ.ศ. 2540 - 2544 ดังนี้
1. เร่งรัดให้มหาวิทยาลัย รวมทั้งระดับคณะวิชา ภาควิชา และหน่วยงานมีระบบการส่งเสริมคุณภาพ (quality enhancement) และการควบคุมคุณภาพ (quality control) โดยเน้นองค์ประกอบสำคัญที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาให้ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับ และทัดเทียมสากล
2. เร่งรัดให้คณะวิชาและหน่วยงานมีความพร้อมสำหรับการตรวจสอบ และประเมินจากหน่วยงานภายนอก
3. เร่งรัดปรับปรุงคุณภาพบัณฑิตให้เป็นที่ยอมรับของสังคม
1. เสริมสร้างความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ให้บุคลากรทุกระดับเห็นความสำคัญ และความจำเป็น ในการประกันคุณภาพ โดยสนับสนุนให้คณะวิชา ภาควิชา และหน่วยงาน ต้องดำเนินการ
2. กำหนดคุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ของคณะวิชา และของมหาวิทยาลัย รวมทั้งองค์ประกอบคุณภาพ (quality framework) ที่จำเป็นในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ และลักษณะของการให้บริการที่พึงประสงค์
3. กำหนดให้มีองค์กรที่ทำหน้าที่ดูแลและรับผิดชอบการดำเนินการประกันคุณภาพขึ้น
4. พัฒนาระบบการควบคุมคุณภาพขององค์ประกอบคุณภาพที่กำหนดขึ้น
5. จัดให้มีระบบการตรวจสอบคุณภาพภายในขึ้น
6. เตรียมการเพื่อเข้ารับการตรวจประเมิน ระบบการประกันคุณภาพในระดับคณะวิชา จากทบวงมหาวิทยาลัย