มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีนโยบายสนับสนุนการจัดการศึกษาที่มุ่งผลลัพธ์การเรียนรู้ 3 ด้าน ประกอบด้วย วิทยา (Knowledge & skills) จริยา (Ethics & Characters) ปัญญา (Wisdom) โดยการจัดการศึกษาตามกระบวนทัศน์ใหม่ที่เน้น Learning Paradigm เพื่อให้ผู้เรียนมีศักยภาพตอบสนองต่อการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดังนั้น กระบวนการพัฒนาหลักสูตรจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งในปัจจุบันมีแนวคิดการพัฒนาหลักสูตรตามแนวทาง OBE (Outcome-Based Education) กอปรกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีหลักสูตรเปิดใหม่ และหลักสูตรปรับปรุงหลักสูตรที่มีจำเป็นจะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในแนวทางข้างต้น ซึ่งจะช่วยผู้บริหารระดับหลักสูตรสามารถจัดทำหลักสูตร ออกแบบหลักสูตร จัดกิจกรรมการเรียนรู้ วัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามผลลัพธ์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้ อีกทั้ง เพื่อให้การจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยสามารถประกันผลลัพธ์การเรียนรู้ และเป็นไปตามแนวทางข้างต้นได้
กองพัฒนาคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้จัดให้มีโครงการหลักสูตรการออกแบบหลักสูตรตามแนวทาง OBE (Outcome-Based Education) โดยจัดใน Part 1 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2568 รูปแบบการอบรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Meeting) นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริหารระดับหลักสูตร อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรมีความรู้ความเข้าใจตลอดจนสามารถบริหารจัดการหลักสูตร ปรับปรุงหลักสูตรให้เป็นไปตามแนวทาง OBE และจัดทำผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับหลักสูตร (PLOs) ของแต่ละหลักสูตรได้ รวมถึงเพื่อให้อาจารย์ผู้สอนมีความรู้ความเข้าใจการจัดทำผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับรายวิชา (Course Learning Outcomes : CLOs) ตามแนวทาง OBE ของหลักสูตรได้
สำหรับการอบรม โครงการหลักสูตรการออกแบบหลักสูตรตามแนวทาง OBE (Outcome-Based Education) ในPart ที่ 2 จัดขึ้นในวันที่ 31 มีนาคม 2568 รูปแบบการอบรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์(Zoom Meeting) โดยมีเนื้อหาต่อเนื่องจากในครั้งแรก ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.คณิตา ตังคณานุรักษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและระบบฐานข้อมูล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นผู้ตรวจประเมินคุณภาพภายในระดับหลักสูตรที่ขึ้นทะเบียนกับ ทปอ. (CUPT Internal Program Assessor) มาถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ตรงในการนำแนวทางข้างต้นไปใช้ในการออกแบบหลักสูตรจนเห็นผลเชิงประจักษ์ โดยเริ่มต้นการอบรมด้วยการนำเสนอ Workshop การกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับหลักสูตร(PLOs) และการออกแบบหลักสูตรและรายวิชา ตามแนวทางของเกณฑ์ AUN-QA Version 4.0 ต่อด้วยการบรรยายเรื่อง การกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับชั้นปี (YLOs) การจัดการเรียนการสอน ตามแนวทางของเกณฑ์ AUN-QA Version 4.0 Criterion 3 - Teaching and Learning Approach และการประเมินผู้เรียน ตามแนวทางของเกณฑ์ AUN-QA Version 4.0 Criterion 4 - Student Assessment ตามลำดับ ต่อด้วยการทำ Workshop และนำเสนอ เพื่อให้ผู้บริหารระดับหลักสูตร/อาจารย์ประจำหลักสูตรมีความรู้ความเข้าใจแนวทางการพัฒนาหลักสูตรตามแนวทางของ OBE และสามารถปรับปรุงหลักสูตรตามแนวทางดังกล่าวได้ ทั้งนี้มีอาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 215 คน