เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2567 กองพัฒนาคุณภาพการศึกษา ได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ "การอบรมเพิ่มทักษะการประเมินคุณภาพภายใน ตามเกณฑ์ AUN-QA Version 4 (Retreat Assessor ระดับหลักสูตร)" ณ ห้องประชุมสิริคุณากร 3 อาคารสิริคุณากร ชั้น 2 มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.นพ. ศักดา วราอัศวปติ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาคุณภาพ ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดโครงการและกล่าวถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพหลักสูตรให้ได้มาตรฐานในระดับสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีผู้ประเมินที่มีความรู้และมีทักษะในการสะท้อนผลที่มีคุณภาพและสามารถนำไปใช้ในการยกระดับคุณภาพหลักสูตรได้จริงถือเป็นสิ่งที่จำเป็นและมีความสำคัญยิ่ง
มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้หลักสูตรต่างๆ มีการจัดการเรียนการสอนสำหรับผู้เรียนยุคใหม่ ตลอดจนการพัฒนาหลักสูตรเพื่อเตรียมความพร้อมในระบบประกันคุณภาพการศึกษาให้ทัดเทียมอาเซียนตามแนวทางของ AUN-QA (ASEAN University Network Quality Assurance) นั้น ทั้งนี้มีหลักสูตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่แจ้งความประสงค์จะนำเกณฑ์ดังกล่าวไปใช้แทนการประกันคุณภาพภายใน ระดับหลักสูตร ในปีการศึกษา 2566 เป็นต้นไป จำนวนทั้งสิ้น 150 หลักสูตร และในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้น จากความสำคัญดังกล่าว และเพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพที่ครอบคลุมทั้งระบบ มหาวิทยาลัยจึงได้จัดการอบรมเพิ่มทักษะการประเมินคุณภาพภายใน ตามเกณฑ์ AUN-QA Version 4 (Retreat Assessor ระดับหลักสูตร) ขึ้น ในวันที่ 20 มิถุนายน 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผู้ตรวจประเมินให้มีความรู้ความเข้าใจแนวทางการตรวจประเมินคุณภาพ ตามเกณฑ์ AUN-QA มีทักษะและมีความพร้อมในการทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจประเมิน ตลอดจนการจัดทำรายงานป้อนกลับที่สามารถนำไปปรับปรุงพัฒนาได้จริง อันเป็นการยกระดับคุณภาพหลักสูตรของมหาวิทยาลัยให้มีความพร้อม และสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล เพื่อรองรับการขอรับรองคุณภาพในระดับนานาชาติในอนาคตได้
โดยการอบรมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร. ภาวดี ภักดี และ รศ.ดร.นันทรัตน์ โฆมานะสิน ซึ่งทั้ง 2 ท่านเป็นผู้ตรวจประเมินคุณภาพหลักสูตร ด้วยเกณฑ์ AUN-QA Version 4 ที่ขึ้นทะเบียนกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มาถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ตรงในการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษา ระดับหลักสูตร ด้วยเกณฑ์ AUN-QA Version 4 กิจกรรมเริ่มต้นที่การให้ความรู้เกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจประเมิน กระบวนการตรวจประเมิน การทำ Desktop Assessment การลงตรวจเยี่ยมหลักสูตร การจัดทำรายงานป้อนกลับที่มีคุณภาพ และการให้ข้อเสนอแนะ รวมถึงเปิดโอกาสผู้เข้าอบรมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นที่สงสัย ในการตรวจประเมินฯ ด้วยเกณฑ์ AUN-QA Version 4 โดยมีอาจารย์เข้าร่วมการอบรม จำนวนทั้งสิ้น 50 คน เพื่อจะได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจประเมินฯ ระดับหลักสูตร ด้วยเกณฑ์ AUN-QA Version 4 ของมหาวิทยาลัยต่อไป